In America the best way to bury a secret is to publish it.

-Edmund White in 'A boy's own story'.-

วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2553

คอรัปชั่นกับการสร้างจิตสำนึก

ถ้าใครติดตามดัชนีมุมมองเรื่องคอรัปชั่น (Corruption Perception Index) ของ Transparency International ก็คงพอจะมองเห็นรูปแบบที่คล้ายๆ กันทุกปี คือ ประเทศกลุ่มอเมริกาเหนือจะมีปัญหาคอรัปชั่นน้อยที่สุด ตามมาด้วยกลุ่มประเทศยุโรป แล้วก็ประเทศกลุ่มเอเชียกับอเมริกาใต้. ที่น่าสนใจก็คือญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้วมีรายได้สูงก็ยังมีปัญหาคอรัปชั่นสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ระดับเดียวกัน.

ประเทศไทยเราก็อย่างที่รู้กันอยู่ว่ามีปัญหาเรื่องนี้มาก และก็ได้มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องคอรัปชั่นมานาน โดยเครื่องมือหลักที่มักจะพูดถึงกันเสมอๆ ก็คือ การสร้างจิตสำนึกของคนให้เลิกคิดที่จะคอรัปชั่น. ผมเคยเขียนโมเดลเรื่องคอรัปชั่น (เฉพาะเจาะจงเรื่องพฤติกรรมการรับสินบน) อธิบายเรื่องนี้เอาไว้ว่าการสร้างจิตสำนึกนั้นดี แต่ไม่ได้ปราศจากต้นทุนเอาเสียทีเดียว เพราะจิตสำนึกที่สูงขึ้นแม้จะช่วยลดปัญหาจำนวนการรับสินบนได้ แต่สำหรับคนที่ยังคิดจะเรียกรับเอาสินบนอยู่ (แม้จะมีจิตสำนึกสูงขึ้นแล้ว) ก็จะเรียกสินบนในปริมาณที่สูงขึ้นเพื่อมาชดเชยกับจิตสำนึกที่เสียไป. ปัญหาก็คือเราอาจจะแก้จำนวนครั้งของการรับสินบนได้ แต่ปริมาณสินบนที่แลกเปลี่ยนกันอาจจะเพิ่มขึ้นก็เป็นได้.

นอกจากนี้แล้วปัญหาที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาที่สำคัญอีกอย่างของการใช้วิธีการสร้างจิตสำนึกเพื่อแก้ปัญหาคอรัปชั่นก็คือความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ. การเปลี่ยนจิตสำนึกนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา จึงเป็นเครื่องมือที่ผมไม่คิดว่าจะทันท่วงทีกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่สำคัญอย่างคอรัปชั่น. จะว่าไปแล้วเรื่องการปลูกฝังจิตสำนึกนี้ก็ไม่ใช่ความคิดใหม่ เป็นเรื่องที่คิดกันมานานและปัญหาก็ไม่ได้ลดน้อยลงไป. ถ้าจะให้ดีผมคิดว่าน่าจะใช้นโยบายทางกฎหมายมากกว่า เพราะเห็นผลเร็วข้ามวันข้ามคืนกันทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มโทษของผู้ให้สินบนแทนที่จะเป็นการเพิ่มโทษของผู้รับ (สำหรับเหตุผลในเรื่องนี้ว่าทำไมควรจะเป็นการเพิ่มโทษของผู้ให้เราค่อยมาดูกันวันหลังครับ). การแก้ปัญหาคอรัปชั่นผมกล้าพูดว่าไม่น่าจะยากอย่างที่หลายคนคิด และกล้าพูดอีกด้วยว่าหัวใจอยู่ที่กฎหมายไม่ใช่จิตสำนึก. เหตุที่เรายังแก้ปัญหาคอรัปชั่นไม่สำเร็จจนกระทั่งในปัจจุบันน่าจะเป็นเพราะเราวาดฝันเอาไว้เกินไปแทนที่จะพิจารณาความเป็นจริงเป็นหลัก.

ถ้าจะเปรียบไปก็เหมือนกับการที่บ้านเรามีปัญหายุงเยอะครับ. บ้านอื่นเขาพอยุงเยอะเขาก็ใช้วิธีการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง หามุ้ง หาเครื่องกำจัดยุง. แต่บ้านเราเน้นการแก้ปัญหาอย่าง creative และยั่งยืนโดยใช้การตัดต่อพันธุกรรมยุงให้เลิกกัดคนครับ. ในอนาคตอาจจะสำเร็จ แต่ตอนนี้ก็คงต้องตบยุงไปพลางๆ ก่อนครับ.

Regret

คำว่า regret หลายๆ คนแปลคงได้คำในภาษาไทยที่คล้ายกันว่าเป็นความสำนึกเสียใจ. ในทางเศรษฐศาสตร์ก็มีการกล่าวเรื่อง regret อยู่มาก แต่จะเป็นความหมายเฉพาะอยู่ซักหน่อยที่ว่า ไม่ใช่ความสำนึกเสียใจเรื่องอะไรก็ได้ แต่ต้องเป็นความสำนึกเสียใจที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจในอดีตที่ผิดของตัวเอง. ดังนั้นความเสียใจเพราะสุนัขที่เลี้ยงไว้ตายไปก็ไม่สอดคล้องกับคำนิยามของ regret ในที่นี้. การตัดสินใจที่ผิดนี้จะว่าไปแล้วก็เกิดจากการประเมินคุณ (Benefit) และโทษ (Cost) ที่ผิดไป. ความผิดบางอย่างก็เป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น เข้าไปทานร้านอาหารแล้วรู้สึกว่าไม่อร่อย สู้ไปทานร้านอื่นเสียดีกว่า แต่ความผิดพลาดบางอย่างก็เป็นเรื่องที่ใหญ่ในชีวิต เช่น การแต่งงานที่จบลงด้วยการหย่าร้าง หรือการลงทุนที่ล้มเหลว.

แต่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ ลักษณะที่เหมือนกันอย่างหนึ่งของความผิดพลาดที่นำไปสู่ regret นี้ก็คือ คนที่เกิด regret จะบอกตัวเองว่า ถ้ารู้อย่างนี้ก็ไม่ทำเสียดีกว่า. ดังนั้น คงพอจะกล่าวได้โดยไม่ผิดว่า สาเหตุของความสำนึกเสียใจในลักษณะนี้ก็คือ ความไม่รู้. เรื่องความไม่รู้นี้เป็นเรื่องสำคัญมากในเชิงเศรษฐศาสตร์ เพราะหัวใจของเศรษฐศาสตร์ที่เน้นระบบตลาดและคติแบบ "ตามใจท่าน" หรือ Laissez faire ก็ตั้งอยู่บนข้อสมมติฐานหนึ่งที่ว่า แต่ละคนมีความรู้และศักยภาพในการประเมินคุณและโทษที่เกิดจากการกระทำของตัวเองเป็นอย่างดี. แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องในอุดมคติ เพราะในความเป็นจริงแล้วแม้แต่นักเศรษฐศาสตร์ระดับรางวัลโนเบลก็ตัดสินใจผิดพลาดในหลายๆ เรื่องที่ก่อให้เกิดความสำนึกเสียใจภายหลังได้เหมือนกัน. หลายคนก็หย่าร้าง หลายคนก็ลงทุนล้มเหลว. จะว่าไปแล้วในชีวิตคนเราคงมี regret ใหญ่ๆ อยู่ไม่กี่เรื่อง บางเรื่องก็พอจะแก้ไขได้ แต่บางเรื่องก็ไม่ได้ หรือสายเกินกว่าจะแก้ได้.

ตอนเรียนที่อเมริกา ผมได้รู้จักนักเรียนทุนหลายคน. นักเรียนไทยแทบจะทุกคนจะได้ทุนอะไรซักอย่างจากเมืองไทยไปเรียนต่อทั้งนั้น. ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนทุนที่ผมรู้จักนี้อาจจะผิดจากที่หลายคนคาดไว้ซักหน่อยที่ว่า แต่ละคนมาจากครอบครัวที่มีฐานะดีถึงดีมาก. เรียกได้ว่า ถึงไม่ได้รับทุนมาเรียน ทางบ้านก็พอจะส่งเสียให้เรียนได้. การรับทุนนั้นจึงเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง. รัฐบาลก็ลงทุนในตัวนักเรียน. นักเรียนก็ลงทุนในแง่ที่ว่าเมื่อได้บวกลบคูณหารทุกอย่างแล้วจึงตัดสินใจที่จะรับทุนมาเรียน.

คำว่าทุนในบริบทของประเทศไทยนั้นออกจะพิเศษอยู่ซักหน่อยที่ว่า มีภาระผูกพันอยู่มาก. ดังนั้น ถ้าจะให้แปลคำนี้เป็นภาษาอังกฤษคงไม่ตรงกับคำว่า Capital หรือทุนในทางเศรษฐศาสตร์ หรือคำว่า Fellowship หรือทุนการศึกษาแบบให้เปล่า เท่าใดนัก ออกจะไปเหมือนกับคำว่า Obligation หรือหนี้ทางกฎหมาย หรือคำว่า Loan หรือสินเชื่อในทางการเงินเสียมากกว่า. ผมเชื่อว่าหลายคนตอนที่กำลังจะรับทุนนั้นคิดคล้ายๆ กันว่า จะได้ช่วยประหยัดเงินทางบ้าน และในขณะเดียวกันพอจบกลับมาแล้วก็จะได้ทำงานที่ช่วยเหลือส่วนรวม ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติซึ่งเป็นประโยชน์ทางใจที่ไม่เป็นตัวเงิน ส่วนเงินเดือนก็พออยู่ได้ มีสวัสดิการดีครอบคลุมพ่อแม่ คู่ครอง และลูกๆ. และนี่ก็คือการวิเคราะห์ Cost-benefit ของการรับทุนโดยเด็กอายุไม่เกินยี่สิบปีครับ.

ผมลองถามเล่นๆ กับหลายๆ คนที่ผมรู้จักว่า ถ้าให้ย้อนเวลากลับไปยังจะคิดรับทุนอีกหรือยอมจ่ายเงินมาเรียนเองดีกว่า. ลองทายดูนะครับว่าจากกลุ่มตัวอย่างแปดคนที่ผมถาม มีกี่คนที่เกิด regret กับเรื่องการรับทุน.

วันพุธที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เศรษฐศาสตร์กับยาเสพติด

แต่ก่อนมีเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมก็ว่าเป็นเรื่องที่ออกนอกความคิดของเศรษฐศาสตร์แบบเดิมๆ ไปมากแล้ว เดี๋ยวนี้แม้แต่เรื่องการฆ่าตัวตายก็ยังมีคนใช้เศรษฐศาสตร์อธิบาย. อาจารย์ที่ปรึกษาผมที่อเมริกาเคยบ่นกลายๆ ว่าเดี๋ยวนี้มีการประยุกต์ใช้เศรษฐศาสตร์ไปแทบทุกเรื่อง จนกระทั่งอีกหน่อยคงมีเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยเรื่องการแปรงฟัน

แต่มีเศรษฐศาสตร์เรื่องหนึ่งซึ่งปัจจุบันผมสนใจมากและจะว่าไปแล้วก็ดูเหมือนจะไม่ตรงกับการประยุกต์เศรษฐศาสตร์ที่คุ้มเคยกันซักเท่าไหร่ คือเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยเรื่องยาเสพติด. อันที่จริงแล้วมีการใช้แนวคิดเศรษฐศาสตร์อธิบายเรื่องการใช้หรือการซื้อขายยาเสพติดมานาน. แม้แต่ปปส. ก็ได้แบ่งยุทธศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องยาเสพติดหลักๆ ออกเป็นยุทธศาสตร์ที่จัดการกับ demand และยุทธศาสตร์ที่จัดการกับ supply ของยาเสพติด.

หลังจากที่ผมได้เข้ามาศึกษาเรื่องเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยยาเสพติดอย่างจริงจังก็ทำให้เรียกได้ว่ากลายมาเป็นอีกผู้หนึ่งซึ่งสนับสนุนเรื่องการแก้กฎหมายให้ยาเสพติดเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย (Legalization). ปัจจุบันได้มีการหันมาวิเคราะห์อย่างจริงจังโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหายาเสพติด ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์หลายท่านได้ให้ทรรศนะที่น่าสนใจไว้ว่า ปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจหลายประการที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดนั้น ไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากการเสพยาเสพติด หากเป็นผลที่สืบเนื่องมาจากการประกาศให้ยาเสพติดเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและการแทรกแซงในตลาดโดยการปราบปรามผู้เสพและผู้ค้า การเร่งปราบปรามยาเสพติดจึงย่อมจะสร้างให้เกิดพลวัต (Dynamics) ของปัญหาที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด กล่าวคือ ยิ่งปราบปรามมาก ก็ยิ่งสร้างให้เกิดปัญหามาก และเมื่อมีปัญหามาก ก็ยิ่งใช้มาตรการปราบปรามมาก

นี่จึงเป็นจุดเริ่มของแนวคิดเรื่องการทำให้สิ่งเสพติดเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายครับ. ไม่ใช่เป็นเพราะว่าเรายอมแพ้กับมัน แต่เป็นเพราะเราต้องการจะแก้ปัญหาให้ถูกจุดต่างหากครับ. เดี๋ยววันหลังเราจะลองมาดูกันครับว่าทำไมการปราบปรามยาเสพติดจึงสร้างปัญหามากกว่าที่จะแก้ปัญหา.

ภาษีกับความเป็นธรรม

วันนี้ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมเรื่องที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง คือ การลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในสังคม และค่อนข้างแน่นอนว่าเครื่องมือหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำที่พูดกันมากก็คือเรื่องการปรับโครงสร้างภาษี. เรื่องภาษีนี้จะว่าไปก็ไม่ค่อยเกี่ยวกับผมเท่าไหร่ เพราะรายได้ผมยังไม่ถึงระดับที่จะต้องเสียภาษีรายได้ แถมไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่ารายได้ผมตอนนี้พ้นเส้นยากจนแล้วหรือยัง. แต่เพราะเวลาฟังไปก็อดจะคิดตามไปด้วยไม่ได้ เลยอยากจะลองเขียนลงบล็อกในวันนี้ครับ.

จุดยืนของผมเรื่องภาษีออกจะต่างจากหลายคนซักหน่อย หรืออย่างน้อยก็เหมือนกับที่เขาคิดแต่ไม่เหมือนกับที่เขาพูด เพราะผมไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีจากคนรวยเพื่อเอามากระจายให้คนจน แล้วบอกว่านี่เป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือเป็นการสร้างความเป็นธรรม. สำหรับผมแล้ว การทำอย่างนี้นอกจากจะไม่ได้ช่วยสร้างความเป็นธรรมแล้ว ยังจะสร้างความไม่เป็นธรรมเอามากๆ. ในความเห็นของผม การที่คนมีรายได้ไม่เท่ากัน ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่เด็กนักเรียนไปสอบแล้วคะแนนออกมาไม่เท่ากัน. ถ้าจะแก้ปัญหา "ความเหลื่อมล้ำ" ในเรื่องนี้ วิธีที่ถูกคงไม่ใช่การหักคะแนนคนที่สอบได้คะแนนดีเอาไปให้คนที่สอบตกแน่ๆ แต่จะไปติวคนที่ยังอ่อนอยู่ให้ได้คะแนนดีกว่าเดิมอะไรก็ว่าไป.

จากสำนักที่ผมเรียนมา ภาษีเป็นเครื่องมือที่ควรใช้อย่างจำกัด และใช้ต่อเมื่อจำเป็นเท่านั้น ซึ่งตามทฤษฎีกว้างๆ แล้วก็แบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ:

1 การเก็บเพื่อนำมาผลิตสินค้าและบริการสาธารณะ สินค้าและบริการสาธารณะมีลักษณะพิเศษคือใช้ร่วมกันได้ ไม่ได้สึกหรออะไร (Non-rival) และในหลายๆ กรณีก็กีดกันคนอื่นไม่ให้มาใช้ด้วยยาก (Non-excludable). ปัญหาจึงมีอยู่ว่าโดยปกติแล้วไม่มีใครอยากจะซื้อหรือผลิตสินค้าชนิดนี้ขึ้นมาเพราะไม่อยากเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายคนเดียว สู้รอให้คนอื่นซื้อมาใช้ก่อนแล้วค่อยหาโอกาสใช้ของเค้าจะดีกว่า. ผลก็คือในที่สุดแล้วก็ไม่มีใครซื้อทั้งๆ ที่ถ้าซื้อมาแชร์กันใช้จะดีกว่า. วิธีแก้ที่ให้ใครซักคนซื้อหรือผลิตสินค้าชนิดนี้ขึ้นมา แล้วให้อำนาจในการจัดเก็บค่าบริการในการใช้. คนๆ นี้ก็คือรัฐ และการจัดเก็บบริการในลักษณะนี้ก็คือ ภาษี.

ในความเห็นของผมแล้วภาษีในลักษณะนี้เป็นเรื่องชอบธรรม เพราะสร้างทั้งประสิทธิภาพในการผลิต และในขณะเดียวกันก็สามารถจะสร้างให้เกิดความเป็นธรรมได้ด้วย. ความเป็นธรรมในที่นี้เป็นไปในลักษณะที่ว่า ถ้าใช้มากก็จ่ายมาก ใช้น้อยก็จ่ายน้อย. ดังนั้นถ้าจะเก็บภาษีรายได้จากผู้มีรายได้มากในอัตราก้าวหน้า ก็เป็นเรื่องสมเหตุสมผลอยู่จากมุมมองเรื่องนี้ เพราะคนมีรายได้มากมักจะได้ประโยชน์จากสินค้าและบริการสาธารณะมากกว่าคนมีรายได้น้อย.

2 การเก็บภาษีเพื่อแก้ไขปัญหา externalities ปกติแล้วรัฐมีทางเลือกสองอย่างที่จะแทรกแซงเข้าจัดการกับเรื่องที่มองว่าเป็นสิ่งไม่ดี. หนึ่งคือ การห้าม (เช่น การฆ่าคน และการเสพยาเสพติด) และสองคือ การเก็บภาษี (เช่น เหล้า บุหรี่) เหตุุผลในการเก็บภาษีในข้อนี้เป็นเรื่องของประสิทธิภาพตรงๆ.

เดี๋ยววันหลังมาคุยกันต่อครับว่า ถ้าการเอาคะแนนเด็กที่สอบได้คะแนนดีไปให้เด็กที่สอบตกเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูก ควรจะหันไปใช้การ "ติว" เด็กที่สอบได้คะแนนไม่ดีให้เก่งขึ้นมาดีกว่า แล้วจะเอา "ค่าติว" มาจากไหน แล้วใครควรจะเป็นคนจ่าย

วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ความ "เวอร์" ของวิชาเศรษฐศาสตร์

ตอนผมเรียนเศรษฐศาสตร์ในระดับปริญญาเอก ปีแรกเค้าจะให้เรียนสามวิชา คือทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จุลภาค ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาค และเศรษฐมิติ ส่วนปีที่สองก็จะเป็นวิชาเลือกแล้วแต่ความถนัดและความสนใจของแต่ละคน

ผมเลือก Labor economics กับเศรษฐมิติ คำว่า Labor economics นี้ผมไม่อยากแปลว่าเศรษฐศาสตร์แรงงาน เพราะปัจจุบันเศรษฐศาสตร์สาขานี้กว้างเกินกว่าที่จะเป็นการพูดถึงเรื่องการว่างงาน การจ้างงาน อย่างเมื่อราวๆ ห้าสิบปีก่อน ตอนนี้ Labor economics ครอบคลุมแทบจะทุกเรื่องที่เป็นการประยุกต์การตัดสินใจของคน เช่น การก่ออาชญากรรม การแต่งงานหรือหย่าร้าง การมีลูก หรือแม้แต่การมีเพศสัมพันธ์ มีการใช้คณิตศาสตร์ชั้นสูงเข้ามาอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์เ้หล่านี้

ที่น่าสนใจก็คือ แล้วมันจริงหรือที่การที่โจรคนหนึ่งเลือกที่จะปล้น หรือการที่เด็กวัยรุ่นซักคนเลือกจะมีเซ็กส์จะเป็นผลจากกระบวนการ dynamic optimization ในเมื่อเด็กมันยังบวกลบคูณหารไม่ค่อยจะถูกเลย แล้วจะให้เชื่อว่าเค้าแก้ Bellman equation เป็นได้ยังไง หรือต่อให้แก้เป็น ก็ดูจะเป็นเรื่องเหลือเชื่อว่าเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งจะมานั่งแก้
Bellman equation ก่อนตัดสินใจมีเซ็กส์

เดี๋ยวค่อยมาต่อกันวันหลังครับว่านักเศรษฐศาสตร์คิดยังไงกับเรื่องนี้

วันพุธที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เรื่องของ Caring Society

เมื่อวานผมได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับเรื่องสังคมเอื้ออาทรหรือ Caring Society ในความเห็นของผมเรื่อง caring เป็นเรื่องในเชิง normative ในทางเศรษฐศาสตร์ หรือพูดง่ายๆ ก็คือเป็นเรื่องที่พึงปรารถนา ไม่ใช่เรื่องที่เป็นอยู่จริงๆ และอันที่จริงจะว่าไปแล้วผมคิดด้วยซ้ำว่าความเห็นแก่ตัวนั้นเป็นเรื่องที่ถูกฝังอยู่ในหน่วยพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตเพื่อความอยู่รอด การจะแก้ตรงนี้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และผมก็ไม่เห็นว่าสมควรที่จะแก้ตรงไหน อย่างน้อยถ้าระบบตลาดดีพอความเห็นแก่ตัวนี่แหละที่จะนำไปสู่ประสิทธิภาพของสังคมสูงสุด ถ้าจะแก้ปัญหาอะไรน่าจะแก้ที่ระบบตลาด ซึ่งแก้ได้ง่ายกว่ามากเมื่อเทียบกับการแก้สิ่งที่ธรรมชาติให้กับสิ่งมีชีวิตมาเป็นล้านปี

มีผู้อภิปรายท่านหนึ่ง (ซึ่งน่าจะจบเศรษฐศาสตร์เหมือนผม) พูดในเชิงคล้ายๆ กับว่าเรื่อง caring นี้มันเป็นเรื่องเดียวกับ mechanism design ซึ่งผมแน่ใจว่าไม่ใช่ และนอกจากไม่ใช่แล้วยังเกือบจะเป็นเรื่องที่ตรงข้ามกันเลย คำว่า caring นั้นมีคำจำกัดความที่เฉพาะเจาะจงมากในทางเศรษฐศาสตร์ เท่าที่ผมรู้ก็ปรากฏเป็นครั้งแรกในงานเขียนของ Gary Becker (ในรูป) ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาัลัยชิคาโก สมมติว่า x เป็นของของผม y เป็นของของคนอื่น u( ) กับ v( ) เป็น continuously differentiably increasing function อะไรก็ว่าไป utility function (สมมติให้แทนด้วย U กับ V) ที่เป็นแบบของใครของมันจะอยู่ในรูปของ

U = u(x), V = v(y).

แต่ utility function ที่มีลักษณะแบบ caring จะอยู่ในรูปของ

U = u(x,v(y)).

จะเห็นได้ว่า function ข้างต้นมีลักษณะสองอย่าง อย่างแรกก็คือผมแคร์คนอื่นด้วยเพราะความพอใจของผม (U) ขึ้นอยู่กับของที่คนอื่นได้รับด้วย (y) และอย่างที่สองก็คือความพอใจของผมที่ว่านี้ต้องผ่าน utility function ของคนอื่น v(y) ความพอใจในลักษณะนี้มีความพิเศษตรงที่ว่ากฏของเศรษฐศาสตร์คลาสสิคเรื่อง First กับ Second theorem of welfare economics ยังใช้ได้อยู่

เขียนมายืดยาวความจริงก็ไม่ได้มีอะไรหรอกครับ นอกจากจะบอกว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่อง if-then คือสมมติว่าความพอใจเป็นอย่างนี้ ก็จะมีสิ่งนี้เกิดขึ้น แต่เรื่อง mechanism design มันไม่ใช่การเปลี่ยนแปลง utility function มันเป็นการเปลี่ยน constraint ต่างหาก คือสมมติว่าคนยังเห็นแก่ตัวกันนี่แหละ ทำยังไงจะให้ผลที่ออกมาเป็นประโยชน์กับสังคม หรือเป็นไปในลักษณะที่สังคมปรารถนา

สรุปก็คือเรื่อง caring นั้นเป็นเรื่องของ objective function (ซึ่งเศรษฐศาสตร์ก็ไม่ได้บอกว่าควรจะเปลี่ยนหรือไม่ด้วย แค่บอกว่าถ้าเป็นอย่างนั้น อะไรจะเกิดขึ้น) ส่วนเรื่อง mechanism design เป็นเรื่องของ constraint

วันพุธที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2552

Unilateral divorce law 2

มาต่อกันครับ เหตุหนึ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ให้ความสนใจกฎหมายตัวนี้กันมากก็เพราะมันเป็นกฎหมายที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิในการหย่า จากเดิมที่ต้องได้รับการสมยอมกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งทำให้กรรมสิทธิในการหย่าเป็นของคนที่ไม่อยากหย่า (คือการหย่าจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่อยากหย่า) เปลี่ยนไปสู่การหย่าแบบคนเดียวก็หย่าได้ ซึ่งทำให้สิทธิในการหย่าเป็นของผู้ที่อยากหย่า

มีทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่ดังมากๆ เรื่องหนึ่ง คือ Coase Theorem เสนอโดยศาสตราจารย์ Coase แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก เนื้อหาของทฤษฎีเรื่องนี้ก็คือถ้าค่าใช้จ่ายในการต่อรองกันไม่มากนัก การเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิที่ว่านี้จะไม่ส่งผลอะไรต่อการจัดสรรทรัพยากร ซึ่งถ้าจะพูดในบริบทนี้ก็คือ กฎหมายนี้ตามทฤษฎีต้องไม่ส่งผลต่ออัตราการหย่าของคนในประเทศอเมริกา

ฟังแล้วมันน่าจะค้านกับสามัญสำนึกนะครับ ทำไมกฎหมายที่อนุญาตให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิหย่าได้จะไม่ทำให้อัตราหย่าร้างสูงขึ้น ผมจะพยายามอธิบายอย่างนี้นะครับ ลองสมมติกฎหมายระบบเก่าแบบที่จะหย่าได้ต้องพร้อมใจกันหย่าทั้งคู่ก่อน สมมติว่าผมมีภรรยา (ความจริงยังโสดครับ อะแฮ่ม) แล้วผมอยากหย่า แต่ภรรยาผมไม่ยอมหย่า ผมก็ต้องหันมาดูว่าถ้าผมหย่าเนี่ย ผมได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ถ้าประโยชน์จากการหย่าที่เกิดกับผม (สมมติว่าคิดเป็นตัวเลขได้สิบบาท) มากกว่าความสูญเสียจากการหย่าที่เกิดกับภรรยาผม (สมมติอีกว่ามีค่าติดลบห้าบาท) ผมก็อาจจะคุยกับภรรยาว่า หย่าเถอะ แล้วผมจะชดเชยความสูญเสียให้กับคุณเองแล้วกัน เอาเป็นว่าผมยอมจ่ายซักหกบาท แลกกับการยอมหย่าของภรรยาผม

ถ้าไม่หย่า ผมกับภรรยาผมก็ได้ศูนย์ทั้งคู่ แต่ถ้าหย่า ผมได้สี่บาท (ประโยชน์จากการหย่าที่ผมได้สิบบาท ลบหกบาทที่ผมชดเชยให้ภรรยา) ภรรยาผมได้หนึ่งบาท (ความสูญเสียจากการหย่าติดลบห้าบาทบวกเงินที่ผมชดเชยให้หกบาท) สรุปแล้วทั้งผมและภรรยาก็ได้กำไรจากการหย่าทั้งคู่ ภายหลังจากที่ได้มีการต่อรองกัน ดังนั้นถึงแม้ว่าตอนแรกภรรยาผมจะไม่อยากหย่า แต่ผมก็สามารถโน้มน้าวเค้าให้หย่าได้ 

สรุปแล้วสิทธิในการหย่าจะอยู่ที่ใครไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจว่าจะหย่าหรือไม่ครับ ขึ้นอยู่กับประโยชน์และความสูญเสียของสามีภรรยาที่เกิดจากการหย่ามากกว่า